วันศุกร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2555

กรุงแตก เจ้าตากฯ


วีรกรรมการรบ

นับแต่ครั้งที่พม่าเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยาเมื่อก่อนเสียกรุง จวบจนสิ้นรัชสมัยของพระองค์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชต้องทรงกรำศึกทั้งทางเรือและทางบกถึง ๓๐ ครั้ง เป็นศึกที่ทำกับพม่าเสีย ๑๐ ครั้ง ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์ชาติไทย ที่ใช้ยุทธวิธีในการศึก ด้วยการผสานกำลังทัพเรือ และ กำลังทัพบกเข้าด้วยกัน ทั้งเพื่อการกู้อิสรภาพของไทยประการหนึ่ง เพื่อรวบรวมอาณาจักรไทยให้เป็นปึกแผ่นประการหนึ่ง เพื่อการปราบจลาจลประการหนึ่ง และเพื่อการแผ่พระราชอาณาจักรให้กว้างขวาง มีการรบเพียง ๗ ครั้งเท่านั้น ที่ได้โปรดให้ข้าราชการผู้ใหญ่เป็นแม่ทัพ ส่วนการรบทั้ง ๒๓ ครั้งนั้น ทรงเป็นแม่ทัพนำทหารร่วมเป็นร่วมตายในสมรภูมิรบตลอดมา อาทิ

เมื่อครั้งตีจันทบุรี ทรงประกาศให้ทหารทุบหม้อข้าว และพระองค์เองทรงช้างพังคีรีบัญชรบุกเข้าชนประตูเมือง จนพังทลายลงและเข้าเมืองได้ในที่สุด เมื่อครั้งการรบที่ตำบลเกยไชย ทรงถูกกระสุนปืนข้าศึกที่พระชงฆ์เบื้องซ้าย จนต้องยกทัพกลับ

ตอนเสียกรุงใหม่ๆว่ากันว่าพม่าเล่นเสียคนไทยขยาดและหวาดกลัวมาก หนีตายกันไปอยู่ป่าก็มาก พระยาตากต้องแสดงฝีมือด้วยการรบหลายครั้งกว่าจะเรียกขวัญกำลังใจคนไทยกลับมาได้ ตัวอย่าง สงครามที่บางแก้ว เมืองราชบุรี ทรงทนล้อมพม่าไว้จนหมดเสบียงอดอยากสาหัส ไทยสามารถจับเชลยได้ทั้งกองทัพ ทำให้คนไทยหมดความกลัวพม่าไปได้ตั้งแต่นั้น


สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ปรีชาสามารถ ทั้งในเชิงการรบทางเรือ และการรบทางบก ในพระฐานะแห่งปฐมกษัตริย์จอมทัพเรือ แม้จะมิได้ปรากฏหลักฐานว่าทรงเคยศึกษาวิชาการด้านการรบทางเรือ และ มิเคยรับราชการในเขตเมืองที่ติดทะเล แต่ทรงรอบรู้และปรีชาสามารถในการศึกษาทางทะเล ทรงทราบถึงความเป็นไปของกระแสคลื่น ระดับน้ำทะเลและฤดูมรสุม นำประโยชน์จากความผันผวนของคลื่นลมมาใช้ จนสามารถนำเรือรบนับร้อยลำ และ กลุ่มทหารเพียงน้อยนิด ฝ่ากระแสลมและเกลียวคลื่น สู้การรบอันยิ่งใหญ่ทางเรือถึง๑๑ ครั้ง (มีการตั้งข้อสังเกตในหนังสือ การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ของ อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ว่าก่อนเข้ารับราชการนั้น น่าจะทรงเป็นพ่อค้าที่ขึ้นล่องไปจนถึงเมืองเหนือมาก่อน)

ในพระฐานะจอมทัพ ทรงเชี่ยวชาญการศึกทั้งฝีมือการรบและการศึกษาภูมิประเทศ เพื่อยังประโยชน์ในการเอาชัย ผสานและเลือกสรรยุทธวิธีการสงครามได้อย่างลึกซึ้ง จากวีรกรรมที่ทรงนำทหารตีฝ่าวงล้อมข้าศึกเมื่อคราวใกล้จะเสียกรุงศรีอยุธยา มาถึงการรบที่บ้านพรานนก เมื่อวันที่ ๔ มกราคม พุทธศักราช ๒๓๑๐ เป็นเสมือนแม่แบบที่ประทับอยู่ในความทรงจำของทหารไทยรุ่นหลัง ด้วยว่าพระยาตากได้สร้างวีรกรรมการรบบนหลังม้าที่เลื่องลือยิ่ง ทรงเอาชนะพม่าซึ่งติดตามมาภายหลังจากกรุงศรีอยุธยาแตกได้ ด้วยกำลังทหารเพียงห้านายต่อสู้บนหลังม้ากับทหารม้าพม่าถึง ๓๐ นาย

ในเวลาต่อมากองพันทหารม้า จึงถือวันนี้เป็น วันปฏิญาณทหารม้า ด้วยสำนึกในความกล้า เข้มแข็ง และเด็ดเดี่ยวในการศึกของพระองค์เมื่อครั้งนั้น

ปราบปรามชุมนุมเจ้าพระฝาง

เมื่อครั้งที่เข้าตีชุมชนเจ้าพระฝาง( เป็นพระ ) ที่สวางคบุรี เมื่อจ.ศ.๑๑๓๒ ปีขาล มีการบันทึกไว้ว่าเป็นชุมนุมที่ดำเนินการปกครองนอกรีตของราชอาณาจักรที่สุด คือขาดระเบียบ ชุมนุมเล็กๆเที่ยวปล้นสะดมชุมชนอื่นๆระบาดมากขึ้น หลังจากที่เจ้าพระฝางหนีไปแล้ว พระสงฆ์ในแถบภาคเหนือจึงจำต้องพิสูจน์ตนเองว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยการดำน้ำ ผู้ใดแพ้จะถูกสักข้อมือมิให้บวชได้อีก หากดำได้เสมอนาฬิกาก็ให้บวชใหม่ โดยต้องเย็บจีวรใหม่มิให้ใช้ของเดิมที่เป็นราคี ว่ากันว่าครั้งนั้นไตรจีวรของบรรดาพระสงฆ์ผู้แพ้แก่การพิสูจน์ ถูกเผากองพะเนิน เอามาผสมน้ำรักเป็นสมุดทาพระมหาธาตุเมืองสวางคบุรี พวกที่ไม่ยอมรับแล้วแพ้แก่นาฬิกาก็ต้องพระราชอาญา ประหารชีวิต

มีความที่บันทึกไว้ในพงศาวดารว่า “..แต่งเครื่องพลีกรรมเทวดาพร้อมแล้ว ทรงพระอธิษฐานให้พระบารมีนั้นช่วยอภิบาลรักษาพระสงฆ์ทั้งปวง ว่าภิกษุองค์ใดมิได้ขาดสิกขาบทจัตุปาราชิก ขอให้พระบารมีโพธิญาณของโยม(พระเจ้าตากสิน) และอานุภาพเทวดาอันศักดิ์สิทธิ์ช่วยอภิบาลรักษาพระผู้เป็นเจ้า อย่าให้แพ้แก่นาฬิกาได้ ถ้าและภิกษุรูปใดศีลวิบัติด้วยจัตุปาราชิก จงสังหารให้แพ้แก่นาฬิกาให้เห็นประจักษ์แก่ตาโลก..


แหล่งอ้างอิง www.moomkafae.com/index.php?lay=show&ac=article

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น