วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2





การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง หรือ สงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง เป็นความขัดแย้งทางทหารครั้งที่สอง ระหว่างราชวงศ์อลองพญาแห่งพม่า กับราชวงศ์บ้านพลูหลวงแห่งสยามในสมัยอาณาจักรอยุธยา ในการทัพคราวนี้ กรุงศรีอยุธยา ราชธานีสยามยาวนานเกือบสี่ศตวรรษ ได้เสียแก่พม่า และถึงกาลสิ้นสุดลง เมื่อวันอังคาร ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 5 ปีกุน ตรงกับวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2310[I] ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าเอกทัศแห่งอาณาจักรอยุธยา และพระเจ้ามังระแห่งอาณาจักรพม่า
ยุทธนาการนี้เป็นผลพวงของสงครามพระเจ้าอลองพญาเมื่อ พ.ศ. 2303 และก่อตัวขึ้นใน พ.ศ. 2308 เมื่อพม่าส่งกองทัพเข้ารุกรานอยุธยาเป็นสองทางแบบคีม ทัพพม่าพิชิตการป้องกันของฝ่ายอยุธยาที่ประกอบด้วยกำลังอันเหนือกว่าแต่ขาดการประสานงานกันได้ และเริ่มปิดล้อมกรุงศรีอยุธยานาน 14 เดือน[3][4] กระทั่งเดือนมีนาคม พ.ศ. 2310 พระเจ้าเอกทัศทรงยอมเป็นประเทศราชของพม่า แต่พม่าประสงค์ให้ยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไข[5] ในที่สุด กองทัพพม่าหักเข้าพระนครได้เป็นครั้งที่สองในประวัติศาสตร์ แล้วทำลายล้างพระนครอย่างป่าเถื่อน ก่อให้เกิดรอยด่างบนผืนความสัมพันธ์ไทย-พม่าตราบบัดนี้
การเสียกรุงครานี้ นอกจากจะส่งผลให้อาณาจักรอยุธยาล่มสลายลงแล้ว ตะนาวศรีตอนใต้ยังได้ตกเป็นของพม่าเป็นการถาวร[2] และบังเกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มการเมืองในระดับต่าง ๆ จนแทบนำไปสู่การล่มสลายของรัฐไทย[6] อย่างไรก็ดี พม่าจำต้องถอนกำลังส่วนใหญ่ในอาณาจักรอยุธยาเดิมกลับคืนประเทศไปเมื่อถูกจีนรุกราน จึงเป็นเหตุให้สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเถลิงอำนาจ ในรัชสมัยของพระองค์ ชาติก็ฟื้นกลับเป็นปึกแผ่นและรุ่งโรจน์อีกครั้ง ทั้งสยามยังสามารถขับพม่าออกจากแคว้นล้านนาได้นับแต่บัดนั้น

บทเพลงระลึกถึงบ้านบางระจัน

สงครามโลกครั้งที่ 2





ในเวลานั้น ทหารญี่ปุ่นจำนวนมากได้เข้าสู่พระนครเต็มไปหมด และได้ใช้สถานที่ทางราชการบางแห่งเป็นที่ทำการ รัฐบาลได้ประกาศให้ญี่ปุ่นเป็น มหามิตร ประชาชนทุกคนต้องให้ความร่วมมือและสนับสนุนกับทางญี่ปุ่นอย่างเต็มที่ การกระทำใด ๆ ที่เป็นปรปักษ์มีโทษถึงประหารชีวิต แต่ก็มีประชาชนบางส่วนลับหลังได้เรียกญี่ปุ่นอย่างดูถูกว่า "ไอ้ยุ่น" หรือ "หมามิตร" เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ทางสหรัฐอเมริกา ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา ไม่อาจยอมรับการประกาศเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นของรัฐบาลไทย และได้ประกาศขบวนการเสรีไทยขึ้นที่นั่น ในวันที่ 12 ธันวาคม พร้อม ๆ กับขบวนการเสรีไทยในที่อื่น ๆ ก็ได้เกิดขึ้น และเสถียรภาพความมั่นคงของรัฐบาลไทยก็ได้สั่นคลอน เมื่อคณะราษฎรฝ่ายพลเรือนหลายคน เช่น ปรีดี พนมยงค์ ทวี บุณยเกตุ ควง อภัยวงศ์ ได้แยกตัวออกมา เนื่องจากไม่อาจรับกับการกระทำของรัฐบาลเช่นเดียวกัน และกลายมาเป็นขบวนการเสรีไทยในประเทศ
สถานการณ์โดยทั่วไปในพระนครนั้น ประชาชนได้รับคำสั่งให้ทำการ พรางไฟ คือการใช้ผ้าขนหนูหรือผ้าขาวม้าปิดบังแสงไฟในบ้าน ให้เหลือเพียงแสงสลัว ๆ เพื่อป้องกันมิให้เครื่องบินของฝ่ายข้าศึกมาทิ้งระเบิดลงได้ ส่วนสถานการณ์โดยรวมของสงคราม ฝ่ายอักษะมีทีท่าว่าจะได้รับชัยชนะในสมรภูมิยุโรปและแอฟริกาตอนเหนือ ส่วนในเอเชียญี่ปุ่นก็สามารถยึดมลายูและสิงคโปร์ได้แล้ว
ฝ่ายสัมพันธมิตรเริ่มส่งเครื่องบินเข้ามาทิ้งระเบิดในพระนคร การทิ้งระเบิดครั้งแรก เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2485 เวลาประมาณ 04.00 น. หลังจากนั้น ในวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 รัฐบาลก็ได้ประกาศสงครามกับอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศสอย่างเต็มตัว ผลของการประกาศสงครามทำให้ไทยได้ดินแดนในแหลมมลายู ที่เสียให้อังกฤษกลับคืนมา (ไทรบุรี ปะลิส กลันตัน ตรังกานู ) และยังได้ดินแดนในแคว้นรัฐฉาน (เชียงตุง เมืองพาน) ในเขตประเทศพม่าอีกด้วย