วันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ประวัติพระธาตุศรีสองรัก



พระธาตุศรีสองรัก
ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำหมัน ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 1 กม. หรือห่างจากตัวจังหวัด 83 กม. ไปตามทางหลวงหมายเลข 203 แล้วแยกขวาตรงกม.ที่ 66 เข้าทางหลวงหมายเลข 2013 อีก 15 กม. จากนั้นแยกขวาเข้าเส้นทาง 2113 อีก 1 กม. พระธาตุศรีสองรักมีรูปทรงสัณฐาน คล้ายพระธาตุพนม มีงานนมัสการใหญ่โตทุกปีในช่วงเดือน 6 มีประชาชนเคารพนับถือมาก นอกจากนี้ภายในวัดยังมีพระพุทธรูปปางนาคปรกศิลปะธิเบตด้วย
สร้างเมื่อ พ.ศ.2103 แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2106 ในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์แห่งกรุงศรีอยุธยาเพื่อเป็นสักขีพยานแสดงความสัมพันธ์อันดีงามระหว่างกัน กับพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชแห่งกรุงศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทร์)ประวัติความเป็นมาของพระธาตุศรีสองรักพระธาตุศรีสองรัก เป็นเจดีย์ที่ก่อด้วยอิฐถือปูนมีฐานเป็นเหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้างด้านละประมาณ 8 เมตร สูงประมาณ 32 เมตร อยู่ห่างจากที่ตั้งจังหวัดเลยไปทางทิศตะวันตกประมาณ 1กิโลเมตรและอยู่ห่างจากที่ตั้งจังหวัดเลยไปทางทิศตะวันตก ประมาณ 83 กิโลเมตร องค์พระเจดีย์ตั้งอยู่ในวัดพระธาตุศรีสองรักบนเนินริมน้ำหมัน ซึ่งเป็นวัดที่ไม่มีพระภิกษุพำนักอยู่ในวัดนอกจากองค์พระเจดีย์แล้ว ถัดไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีโบสถ์ 1 หลัง ภายในโบสถ์มีพระพุทธรูปนาคปรก 1 องค์ และพระพุทธรูปอื่น ๆ อีกบ้าง และถัดองค์พระเจดีย์ไปทางทิศตะวันตกมีศิลาจารึก 1 แผ่น ซึ่งจารึกตำนานการสร้างพระธาตุศรีสองรักด้วยอักษรธรรมอยู่ด้วย

ที่มา http://www.thai-tour.com

ประวัติศาสตร์เมืองเชียงแสน




ประวัติความเป็นมา
เมืองเชียงแสน เป็นเมืองโบราณที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดเมืองหนึ่งของแคว้นล้านนา จากหลักฐานด้าน ประวัติศาสตร์และโบราณคดี แสดงให้เห็นว่าเมืองเชียงแสนเป็นเมืองที่มีพัฒนาการมายาวนาน เนื่องจากเป็นเมือง ที่มีทำเลที่ตั้งเหมาะสมจึงส่งผลให้มีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจ การปกครอง ศาสนา และศิลปกรรม ได้มีการพบหลักฐานการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในยุคหินเก่าด้วย กลุ่มสิงหนวัติ เป็นกลุ่มคนไทกลุ่มแรก ที่เข้ามาสร้างบ้านแปงเมือง บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำกก ชื่อเมือง "โยนกนาคพันธสิงหนวัติ" มีกษัตริย์ผู้สืบเชื้อสายปกครองต่อๆ กันมา จนกระทั่งสมัยของพระเจ้าพรหมสามารถ รวบรวมบ้านเมือง และขยายขอบเขตของแคว้นโยนกออกไปได้หลายพื้นที่ คือ เมืองไชยปราการ (เขตอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่) เมืองไชยนารายณ์ (เขตอำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย) และเวียงพางคำ (เขตอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย) จนกระทั่งเมืองโยนกล่มสลายลงต่อมาโดยการนำของพ่อบ้านชื่อ "ขุนลัง" ได้พากันออกไปสร้างบ้านแปงเมืองขึ้นใหม่ บริเวณปากแม่น้ำกกชื่อว่า "เวียงปรึกษา"

ที่มา http://www.banrongkhun.com

ประวัติเมือง เชียงใหม่




" นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ " หรือจังหวัดเชียงใหม่ในปัจจุบัน เป็นเมืองที่มีเรื่องราวความเป็นมาในอดีตมากมาย ดังในหลักฐานจารึก ปรากฎหลักฐานเริ่มขึ้นในสมัย พญามังรายกษัตริย์องค์ที่ 25 แห่งราชวงศ์ลาว เชื้อสายปู่เจ้า ลาวจก ได้ทรงเสด็จขึ้นครองราชย์ที่เมืองเงินยางเชียงแสนพระองค์ทรงรวบรวมหัวเมืองต่างๆ และได้ทรงขยายอำนาจลงไปทางใต้ โดยได้สร้างเมืองเชียงรายขึ้นเป็นศูนย์กลางของการรวบรวมเมืองเล็กๆในแถบลุ่มน้ำกก และตั้งแคว้นขึ้น ชื่อว่า แคว้นโยน หรือโยนก จากนั้น
พระองค์ทรงขยายอำนาจเข้าสู่ลุ่มน้ำปิงเพื่อยึดครองแคว้น หริภูญไชย พระองค์ทรงใช้เวลานานถึง 8 ปีจึงสามารถตี แคว้นหริภุญไชยได้ต่อมาพระองค์ทรงผนวกหริภูญไชยเข้าเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นโยนก กลายมาเป็น อาณาจักรล้านนา ที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน
ต่อมาในปีพุทธศักราช 1837 พญามังรายได้สร้างเมืองใหม่ขึ้นทางเหนือ ของแคว้นหริภุญไชย แต่บริเวณดังกล่าวเกิด น้ำท่วมบ่อยครั้ง (เวียงกุมกามในปัจจุบัน)
พระองค์จึงตั้งเมืองแห่งใหม่ และที่เหมาะสมบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำปิงเชิงดอยสุเทพ ซึ่งเป็นบริเวณที่สะดวกในการทำการค้าขาย
ทั้งทางบกและทางน้ำ และยังง่ายต่อการควบคุมหัวเมืองต่างๆ
ในปี พ.ศ. 1839 พญามังรายได้เชิญพระสหาย คือ พญางำเมือง และ พญาร่วง
( พ่อขุนรามคำแหง)มาหารือเรื่องการวางผังสร้างเมืองและทั้งสามพระองค์
ก็ได้ร่วมสถาปนาเมืองแห่งนี้ว่า"นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่" พญามังรายได้พัฒนาทั้งการก่อสร้างวัดวาอาราม มีการตรากฎหมายที่เรียกว่า "มังรายศาสตร์"รวมถึงรับเอาพุทธศาสนานิกายลังกาวงศ์เข้ามาเผยแพร่ในอาณาจักร
ซึ่งทำให้พระภิกษุในล้านนาสนใจศึกษาพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก สมัยพระเจ้าติโลกราชกษัตริย์องค์ที่9อาณาจักรของล้านนาได้ขยายออกไปอีกอย่างกว้างขวางพร้อมกับได้ผูกสัมพันธไมตรีกับสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยาซึ่งในสมัยพระเจ้าติโลกราชนี้เองที่ได้มีการสังคายนาพระไตรปิฏกขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยอาณาจักรลานนาเริ่มเสื่อมลงในปลายสมัยพญาเมืองแก้ว
เนื่องจากทำสงครามกับเชียงตุงพ่ายแพ้และเสียชีวิตไพร่พลเป็นอันมาก ประกอบกับอุทกภัย กระทบถึงความมั่นคงของอาณาจักรเมืองในการปกครองเริ่มตีตัวออกห่าง ในปี พ.ศ.2101 ในสมัยพระมหาเทวีจิรประภา กษัตริย์องค์ที่ 15พม่าได้ยกกองทัพมาตีเชียงใหม่ เพียงสามวันก็เสียเมืองและกลายเป็นเมืองขึ้นของพม่ายาวนานถึง 216 ปีต่อมาในปี พ.ศ.2317 พญาจ่าบ้านและพระเจ้ากาวิละ ได้ร่วมกันต่อต้านพม่า และอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แห่งกรุงธนบุรี ยกทัพขับไล่พม่าพ่ายแพ้ไป ต่อมาสมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ทรงแต่งตั้งพระเจ้ากาวิละขึ้นครองเมืองในฐานะเมืองประเทศราช พระเจ้ากาวิละได้ทรงพื้นฟูเมืองเชียงใหม่ จนมีอาณาเขตกว้างขวาง การค้าขายรุ่งเรือง ขณะเดียวกันก็จัดส่งบรรณาการ ส่วยสิ่งของและอื่นๆ ให้แก่กรุงรัตนโกสินทร์ซึ่งยังมีอำนาจในการแต่งตั้งตำแหน่งเจ้าเมืองและขุนนางระดับล่วงมาถึงสมัยราชการที่5 เมื่ออิทธิพลตะวันตกแผ่เข้ามาในเมืองไทย
มีการปฏิรูปการปกครอง โดยผนวกดินแดนล้านนาเข้ากับมณฑลพายัพ แต่ก็ยังเป็นเมืองประเทศราชในอาณัติราชอาณาจักรสยาม ตรงกับสมัยของเจ้าอินทวิชยานนท์ และราชการที่5ได้ทรงขอเจ้าดารารัศมี ธิดาของเจ้าอินทวิชยานนท์ไปเป็นชายา เจ้าดารารัศมีเป็น
ผู้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองอาณาจักรใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น เมื่อมีการสร้างทางรถไฟขึ้นในเวลาต่อมา ส่งผลให้ตัวเมืองเชียงใหม่
ขยายตัวยิ่งขึ้นและใกล้ชิดกรุงเทพฯ มากขึ้น ในปี พ.ศ.2475เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มณฑลเทศภิบาลถูกยกเลิกเชียงใหม่มีฐานะเป็นจังหวัดหนึ่ง ของประเทศไทย หลังจากนั้นเชียงใหม่พัฒนาขึ้นเรื่อยๆจนกลายเป็นจังหวัดใหญ่ที่สำคัญ
รองลงมาจากกรุงเทพฯเท่านั้น

ที่มา http://www.chiangmai-guideline.com

ประวัติเมือง หลวงพระบาง





ลาว...ประเทศเล็กๆ ที่มีประชากรประมาณห้าล้านคน แม้จะน้อยนักแต่หากว่าลาวมีแผ่นดินที่กว้างใหญ่กว่า 236,800 ตารางกิโลเมตร เป็นอาณาจักรแห่งขุนเขาและสายน้ำที่ยังสมบูรณ์ดังเช่นครั้งหนึ่งไทยเราเคยมี

• นานมาแล้วที่นักเดินทาง นักท่องเที่ยวใฝ่ฝันถึงหลวงพระบางหรืออาณาจักรล้านช้าง ในอดีตเดิมทีหลวงพระบางเคยเป็นเมืองหลวงเก่าของลาวมาก่อน เมื่อองค์การยูเนสโก้ยกให้หลวงพระบางเป็นเมืองมรดกโลก ชื่อของหลวงพระบางจึงขจรขจายไปไกล การท่องเที่ยวเมืองหลวงพระบางจึงมีชื่อเสียงมากที่สุดของลาวก็ว่าได้

• "ตัวเมืองอันสงบ อบอุ่นด้วยรอยยิ้มและมิตรไมตรี" ตัวเมืองหลวงพระบางนั้นตั้งอยู่ริมแม่น้ำคานไหลมาบรรจบกับแม่น้ำโขงช่วงที่คดโค้งสวยงาม หันไปทางไหนแลเห็นแต่สีเขียวจากป่าดงพงไพร
นานมาแล้วที่เมืองหลวงพระบางเป็นเมืองหลวง พระเจ้าฟ้างุ้มได้รวบรวมแว่นแคว้นต่างๆของชนเผ่าไท-ลาวในเขตลุ่มน้ำโขง แม่น้ำคาน แม่น้ำอู ก่อตั้งอาณาจักรล้านช้าง ณ ดินแดนริมน้ำโขงซึ่งคือหลวงพระบาง เมื่อปี พ.ศ. 1896 – 1916 โดยการช่วยเหลือของกษัตริย์ขอม (เพราะมเหสีของเจ้าฟ้างุ้มคือพระราชธิดาของกษัตริย์ขอมในขณะนั้น) พร้อมๆกับการรับเอาพุทธศาสนาเข้ามาแทนการนับถือผี

ลาว เป็นประเทศหนึ่งที่สืบเชื้อสายบรรพบุรุษเดียวกับชาวไทย แต่ลาวมีชนกลุ่มน้อยมากมายหลายเผ่า ลาวแท้ๆ มีเพียง 50 เปอร์เซนต์เท่านั้น ซึ่งมักจะอาศัยอยู่ที่ราบริมน้ำโขง ส่วนชาวเขานิยมอยู่บนเทือกเขา

• แรกทีเดียวอาณาจักรล้านช้างมีชื่อเรียกวาส “เมืองชวา” อันเนื่องมาจากมีชาวชวาอาศัยอยู่มากกว่ากลุ่มอื่น ในปี พ.ศ. 1900 เปลี่ยนมาเป็นชื่อ เมืองเชียงทอง กระทั่งกษัตริย์ขอมได้พระราชทานพระพุทธรูปองค์หนึ่ง มีชื่อว่า พระบาง เป็นพระพุทธรูปศิลปะสิงหล เจ้าฟ้างุ้มจึงทรงเปลี่ยนชื่อเมืองเป็น “หลวงพระบาง”

• ปี พ.ศ. 2088 พระเจ้าโพธิสารราชเจ้า โปรดฯ ให้ย้ายเมืองหลวงของอาณาจักรล้านช้างไปอยู่ที่เมืองเวียงจันทน์ แม้หลวงพระบางจะไม่ได้เป็นเมืองหลวงต่อไป แต่เจ้ามหาชีวิตยังคงประทับที่หลวงพระบาง

• ต่อมาอาณาจักรล้านช้างแตกออกเป็นสามอาณาจักร คือ

1.อาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง
2.อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์
3.อาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์

• กษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านช้าง ยังคงสืบทอดราชบัลลังก์กระทั่งถึงยุคสิ้นสุดของราชวงศ์อันมีสาเหตุหลักมาจากตกเป็นเมืองขึ้นของสยาม เวียตนามและฝรั่งเศส

• เหตุนี้เองหลวงพระบางจึงมาความเป็นมายาวนาน เป็นราชธานีเก่าแก่ วัดวาอารามมากมาย และมีธรรมชาติที่วิเศษ

หลวงพระบางได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลกด้วยเหตุผล คือมีวัดวาอารามเก่าแก่มากมาย มีบ้านเรืออันเป็นเอกลักษณ์โคโลเนียลสไตล์ ตัวเมืองตั้งอยู่ริมน้ำโขงและน้ำคาน ซึ่งไหลบรรจบกันท่ามกลางธรรมชาติอันงดงาม และชาวหลวงพระบางมีบุคลิกที่ยิ้มแย้มแจ่มใส เป็นมิตร มีขนบธรรมเนียมประเพณีที่งดงาม

• ในขณะที่มรดกโลกแห่งอื่นอาจได้ขึ้นทะเบียนอย่างจำเพาะเจาะจงในโบราณสถาน ธรรมชาติ แต่หลวงพระบางทั้งเมือง ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกของมวลมนุษยชาติเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2538 และยังได้รับการยกย่องว่าเป็นเมืองที่ได้รับการปกปักรักษาที่ดีที่สุดในเอเชียตะวันออกเชียงใต้

• ปัจจุบันเมืองหลวงพระบางมีประชากรประมาณห้าแสนคน ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม
ที่ตั้ง : หลวงพระบาง ตั้งอยู่ทางเหนือของนครเวียงจันทน์ ระยะทางประมาณ 400 กิโลเมตร เชื่อมต่อถึงกันด้วยทางหลวงหมายเลข 13 ใช้เวลาเดินทางราว 8 – 10 ชั่วโมงด้วยกันด้วยถนนที่ไม่ดีนัก มีเครื่องบินจากนครเวียงจันทน์ถึงหลวงพระบางโดยสายการบินลาว ใช้เวลาบินประมาณ 45 นาที ที่เที่ยวที่เด่นๆ

สถานที่ท่องเที่ยวส่วนใหญ่ในหลวงพระบาง ซึ่งเป็นราชธานีเก่าแก่ คือการเที่ยววัด ซึ่งมีศิลปะงดงาม มีขนากระทัดรัดไม่ใหญ่โต แม้ว่าจะมีวัดต่างๆมากมายถึง 40 วัด แต่ที่เที่ยวชมเด่นๆ จะอยู่ที่วัดเชียงทอง วัดภูษี วัดวิชุนราช วัดใหม่สุวรรณภูมาราม พระราชวังหลวง ถ้ำติ่ง น้ำตกกวางชี ช่วงท้ายๆ หามีเวลาเหลือมักจะไปซื้อของฝาก ในตลาดหรือในหมู่บ้านต่างๆ


เมืองหลวงพระบาง เป็นเมืองเอกของแขวงหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว อยู่ทางภาคเหนือของประเทศ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขงและแม่น้ำคาน ซึ่งไหลมาบรรจบกัน เป็นเมืองที่องค์การยูเนสโกได้ยกย่องให้เป็นมรดกโลกด้วย

ที่มา http://luangprabang.sadoodta.com

ความเสื่อมของอาณาจักรสุโขทัย




อาณาจักร สุโขทัยมีการพัฒนาความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมืองมาโดยตลอด โดยเฉพาะสมัยกรุงสุโขทัยตอนต้น ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงวาง รากฐานการปกครองแบบปิตุราชา (พ่อปกครองลูก) และในสมัยกรุงสุโขทัย ตอนปลาย ได้นำหลักธรรมมาใช้ในการปกครอง เป็นการปกครองแบบธรรมราชา ทำให้อาณาจักรสุโขทัยมีกำลังทหารเข้มแข็ง จนกระทั่งสิ้นสมัยพ่อขุนรามคำ แหงมหาราช อาณาจักรสุโขทัยเริ่มเสื่อมอำนาจและสูญเสียอำนาจโดยถูกผนวก เข้า เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอยุธยาในที่สุด เนื่องมาจากสาเหตุดังนี้

๑. การแตกแยกทางการเมืองภายในราชธานี เป็นปัญหาสืบเนื่องมาจากการ แย่งชิงอำนาจ ระหว่างเจ้านายในราชวงศ์ของอาณาจักรสุโขทัย จนถึงมีการ รบพุ่งกันเองทำให้เกิดความอ่อนแอทางการเมืองภายในราชธานี เป็นเหตุให้ อาณาจักรอยุธยาเข้าแทรกแซงอำนาจได้

๒. สุโขทัยมีการปกครองแบบกระจายอำนาจที่หละหลวม พระมหากษัตริย์ของ อาณาจักรสุโขทัย ได้ให้อำนาจกับเจ้าเมืองต่างๆ ในการบริหารและควบคุม กำลังคนภายในเมืองของตนอย่างเต็มที่ เป็นเหตุให้หัวเมืองเหล่านั้นแยกตัว เป็นอิสระได้โดยง่าย

๓. สุโขทัยมีข้อเสียเปรียบทางเศรษฐกิจ เนื่องจากสุโขทัยมีสภาพที่ตั้งลึกเข้า ไปในแผ่นดินซึ่งอยู่ห่างจากทะเลมาก ทำให้ไม่มีเมืองท่าเป็นของตนเอง เมื่อมี ีการแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้ากับต่างชาติ ต้องอาศัยผ่านเมืองเมาะตะมะ หรือ ผ่านเมืองต่างๆ ตามแม่น้ำเจ้าพระยา ไปสู่ทะเลอ่าวไทย

๔. อาณาจักรอยุธยาก่อตั้งขึ้นบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา อาณาจักรอยุธยาที่ ก่อตั้งขึ้นบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง มีกำลังทหารและเศรษฐกิจที่ เข้มแข็งกว่าสุโขทัย ต่อมาอาณาจักรอยุธยาได้ยกทัพมาตีอาณาจักรสุโขทัย จน ได้เป็นประเทศราช และต่อมาอาณาจักรสุโขทัยถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ อาณาจักรอยุธยาในปี พ.ศ. ๑๙๘๑

ที่มา http://www.sema.go.th

การสถาปนาอาณาจักรสุโขทัย






อาณาจักรสุโขทัยเป็นอาณาจักรของคนไทยที่ได้รับการสถาปนาขึ้นใน พ.ศ. 1792 ก่อนหน้าที่จะมีการสถาปนาอาณาจักรสุโขทัยขึ้นมานั้น สุโขทัยเป็นเมืองเก่าแก่ที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาก่อน จากการตีความในศิลาจารึกหลักที่ 2 (วัดศรีชุม) พอจะสรุปความได้ว่า เมืองสุโขทัยแต่เดิมมีผู้นำคนไทยชื่อ พ่อขุนศรีนาวนำถุม เป็นเจ้าเมืองปกครองอยู่ เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ ขอมสบาดโขลญลำพง ขุนนางขอมได้นำกำลังเข้ายึดกรุงสุโขทัยไว้ได้
เมื่อพวกขอมเริ่มเสื่อมอำนาจลง ในปี พ.ศ. 1780 ได้มีผู้นำ 2 ท่าน คือ พ่อขุนบางกลางหาว และพ่อขุนผาเมือง ซึ่งเป็นผู้นำคนไทยได้ร่วมมือกันรวบรวมกำลังเข้าขับไล่ขอมออกจากดินแดนแถบนี้และตั้งตนเป็นอิสระ พร้อมกับสถาปนากรุงสุโขทัยเป็นราชธานีของอาณาจักรไทย และได้สถาปนาพ่อขุนบางกลางหาวขึ้นเป็นกษัตริย์ปกครองกรุงสุโขทัยทรงพระนามว่า พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ นับเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์สุโขทัยหรือราชวงศ์พระร่วง นับตั้งแต่ พ.ศ. 1792 เป็นต้นมา

ปัจจัยที่เอื้อต่อการสถาปนาอาณาจักรสุโขทัยเป็นราชธานี มีดังนี้
1. ปัจจัยภายใน ได้แก่ การมีขวัญและกำลังใจดีของประชาชนเนื่องจากมีผู้นำที่เข้มแข็งและมีความสามารถ การมีนิสัยรักอิสระ ไม่ชอบให้ผู้ใดมากดขี่ข่มเหง บังคับและบ้านเมืองมีความอุดมสมบูรณ์
2. ปัจจัยภายนอก ได้แก่ การเสื่อมอำนาจของขอม หลังจากที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 สิ้นพระชนม์ลง กษัตริย์องค์ต่อมาไม่สามารถรักษาอำนาจของตนในดินแดนที่ยึดครองมาได้ ทำให้หัวเมืองต่าง ๆ พากันตั้งตนเป็นอิสระ

ระยะเริ่มต้นของการสถาปนากรุงสุโขทัยเป็นราชธานี โดยเฉพาะในสมัยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ บ้านเมืองยังไม่มั่นคงมากนัก คนไทยยังอยู่กันอย่างกระจัดกระจาย บางเมืองยังคงมีอิสระในการปกครองตนเอง ไม่มีการรวมอำนาจไว้ ณ ศูนย์กลางเมืองใดเมืองหนึ่งโดยตรง บางครั้งจึงมีการทำสงครามกันเพื่อแย่งชิงอำนาจและขยายอาณาเขตของเมือง เช่น ขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดได้ยกทัพมาตีเมืองตาก
เมื่อสิ้นรัชสมัยของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ พระราชโอรสองค์ใหญ่ คือ พ่อขุนบานเมือง ได้ขึ้นครองราชย์ สมัยนี้สุโขทัยได้ขยายอำนาจทางการเมืองด้วยการทำสงครามกับหัวเมืองต่าง ๆ โดยมีพระอนุชา คือ พระรามคำแหง เป็นกำลังสำคัญ ซึ่งต่อมาพระองค์ได้ขึ้นครองราชย์สืบต่อจากพ่อขุนบานเมือง
ในสมัยพ่อขุนรามคำแหง พระองค์ทรงเป็นแม่ทัพไปปราบเมืองต่าง ๆ จนเป็นที่เกรงขามของอาณาจักรอื่น ๆ ดังนั้นเมื่อพระองค์ขึ้นครองราชย์จึงมีหลายเมืองที่ยอมอ่อนน้อมเข้ารวมอยู่กับอาณาจักรสุโขทัย โดยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชมิได้ส่งกองทัพไปรบ ได้แก่ เมืองหงสาวดี เมืองสุพรรณบุรี เมืองเพชรบุรี เมืองราชบุรี เมืองหลวงพระบาง เมืองเวียงจันทน์ และเมืองนครศรีธรรมชาติ ทำให้อาณาจักรสุโขทัยมีอาณาเขตแผ่ขยายออกไปกว้างขวางมาก ดังปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 1 ดังนี้
ทิศเหนือ ครอบคลุมเมืองแพร่ น่าน พลัว จนถึงเมืองหลวงพระบาง
ทิศใต้ ครอบคลุมเมืองคณฑี (กำแพงเพชร) พระบาง (นครสวรรค์) แพรก (ชัยนาท) สุพรรณบุรี ราชบุรี เพชรบุรี นครศรีธรรมราช จนถึงแหลมมลายู
ทิศตะวันออก ครอบคลุมเมืองสระหลวงสองแคว (พิษณุโลก) ลุมบาจาย (หล่มเก่า) สระคา และข้ามฝั่งแม่น้ำโขงไปถึงเมืองเวียงจันทน์และเวียงคำ
ทิศตะวันตก ครอบคลุมเมืองฉอด หงสาวดี จนถึงชายฝั่งทะเลด้านอ่าวเบงกอล

ขณะเดียวกันพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงใช้หลักธรรมในการปกครองเพื่อให้ประชาชนได้อยู่เย็นเป็นสุข ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เจ้าเมืองต่าง ๆ เหล่านี้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ทำให้สุโขทัยปราศจากข้าศึกศัตรูในทุกทิศ นับได้ว่าในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เป็นช่วงสมัยที่อาณาจักรสุโขทัยมีความเจริญรุ่งเรืองสูงสุด
หลังจากสิ้นรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช มีกษัตริย์ขึ้นครองราชย์อีก 2 พระองค์ คือ พญาเลอไทย และพญางั่วนำถม แต่อาณาจักรสุโขทัยก็เริ่มเสื่อมอำนาจลง บรรดาเมืองต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้การปกครองของสุโขทัยได้แยกตัวเป็นอิสระและเมืองประเทศราชที่มีกำลังเข้มแข็งต่างพากันแยกตัวไม่ขึ้นต่อกรุงสุโขทัย เช่น เมืองพงสาวดี เมืองนครศรีธรรมราช เป็นต้น นอกจากนี้ในตอนปลายรัชสมัยพญางั่วนำถมยังเกิดจลาจลขึ้นอีก เนื่องจากมีการแย่งชิงราชสมบัติจนพญาลิไทยเจ้าเมืองศรีสัชนาลัยต้องยกกำลังมาปราบ ทำให้บ้านเมืองสงบลง
หลังทรงปราบจลาจลในกรุงสุโขทัยได้สำเร็จ พญาลิไทยได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ครองราชสมบัติ ทรงพระนามว่า พระมหาธรรมราชาที่ 1 พระองค์ทรงพยายามสร้างอำนาจทางการเมือง เพื่อพัฒนาบ้านเมืองให้เข้มแข็งมาใหม่ อย่างไรก็ตามอาณาเขตของอาณาจักรสุโขทัยในรัชสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 ก็ได้ลดลงไปมากกว่าครึ่งเมื่อเทียบกับสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ต่อมาเมื่อสิ้นรัชสมัยของพระมหาธรรมราชาที่ 1 แล้ว มีพระมหากษัตริย์ขึ้นครองราชย์สืบต่อมาอีก 3 พระองค์ คือ พระมหาธรรมราชาที่ 2 พระมหาธรรมราชาที่ 3 (ไสลือไทย) และพระมหาธรรมราชาที่ 4 (บรมปาล) แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวอาณาจักรสุโขทัยเริ่มเสื่อมอำนาจ

กรุงสุโขทัย มีกษัตริย์ปกครอง 9 พระองค์ ดังนี้
1. พ่อขุนศรีอินทราทิตย์
2. พ่อขุนบานเมือง
3. พ่อขุนรามคำแหงมหาราช
4. พญาเลอไทย
5. พญางั่วนำถม
6. สมเด็จพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไทย)
7. สมเด็จพระมหาธรรมราชาที่ 2
8. สมเด็จพระมหาธรรมราชาที่ 3 (ไสลือไทย)
9. สมเด็จพระมหาธรรมราชาที่ 4 (บรมปาล)

ที่มาและได้รับอนุญาตจาก : เอกรินทร์ สี่มหาศาล และคณะ . ประวัติศาสตร์ ป.4 . พิมพ์ครั้งที่ 2 . กรุงเทพ ฯ : อักษรเจริญทัศน์

พ่อขุนผาเมือง




เป็นบุคคลที่มีความสำคัญที่สุดผู้หนึ่งในการก่อตั้งอาณาจักรสุโขทัย[3] เป็นผู้นำอพยพไพร่พลจากบริเวณลุ่มน้ำคาย เมืองเชียงทอง หรือล้านช้าง หลวงพระบาง นำไพร่พลมาตั้งเมืองใหม่ริมลำน้ำพุง ตั้งแต่บ้านหนองขี้ควาย มาจนถึงบริเวณวัดกู่แก้ว สถาปนาอาณาจักรขึ้นให้เรียกว่าเมืองลุ่ม อาณาจักรแห่งนี้เดิมอยู่ในเขตอิทธิพลของขอม นอกจากนั้นยังปรากฏหลักฐานในนิทานโบราณคดีของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพที่ทรงสันนิษฐานว่า เหตุจะเกิดเมืองหล่มเก่า เห็นจะเป็นด้วยพวกราษฎรที่หลบหนีภัยอันตรายในประเทศล้านช้าง มาตั้งซ่องมั่วสุมกันอยู่ก่อน แต่เป็นที่ดินดีมีน้ำบริบูรณ์เหมาะแก่การทำเรือกสวนไร่นาและเลี้ยงโคกระบือ จึงมีพวกตามมาอยู่มากขึ้นโดยลำดับจนเป็นเมือง แต่เป็นเมืองมาครั้งสุโขทัย มีปรากฏในหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงว่า เมืองลุ่ม ต่อมาภายหลังมาเรียกว่าเมือง หลุ่ม

ประวัติ

ประวัติของพ่อขุนผาเมืองนั้นมีหลายคนเคยศึกษาก็ล้วนแตกต่างกันไป แต่โดยส่วนใหญ่จะกล่าวกันว่า พ่อขุนผาเมืองมีมเหสีสองพระองค์ คือ พระนางปัทมาดี พระองค์ที่สองคือ พระนางปทุมดี ซึ่งทั้งสองพระองค์นี้เป็นพระขนิษฐาของพ่อขุนบางกลางหาว เจ้าเมืองบางยาง ซึ่งส่วนมากผู้คนเข้าใจกันว่าเป็นพระสหาย ในประวัติวัดตาลมีไว้ว่าผู้สร้างวัดนี้คือพระนางปัทมาดี ซึ่งมีหลวงพ่อโตเป็นพระพุทธรูปพระประทาน
ในปี พ.ศ. 1800 พ่อขุนบางกลางหาวและพ่อขุนผาเมือง ได้ริเริ่มคิดปราบปราม ขอมเพื่อปลดปล่อยอิสระของชนไท โดยนำกำลังไพร่พลเข้าทำการรบกับขอมจนเป็นอันผลสำเร็จ และประกาศเป็นอิสระจากขอม ตั้งแต่นั้นมา หลังจากชนะศึกและได้มเหสีองค์ใหม่คือ พระนางสิงขรเทวี และได้กลับมาที่เมืองราดจนเมืองราด (หล่มสัก) นั้นถูกเผา จนเกิดมีตำนานข้าวสารดำ นั้นมีการจารึกบรรยายอยู่ที่วิหารในวัดตาล อำเภอหล่มเก่า
อย่างไรก็สิ่งที่สามารถใช้เป็นหลักฐานที่ได้รับการยอมรับจากนักประวัติศาสตร์ใช้อ้างอิงได้นอกเหนือไปจากตำนานและเรื่องเล่าต่างๆที่กล่าวถึงพ่อขุนผาเมือง ในปัจจุบันมีเพียงศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 2 เพียงชิ้นเดียว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พ่อขุนศรีนาวนำถุม




พ่อขุนศรีนาวนำถุม หรือ พ่อขุนศรีนาวนำถม แรกปรากฏพระนามตามศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 2 ว่าเป็น พ่อขุนผู้รวบรวมบ้านเมืองในลุ่มแม่น้ำยม-น่าน และสถาปนาแคว้นสุโขทัย-ศรีสัชนาลัยขึ้นเป็นปึกแผ่น มีการตีความว่า อาจมีความเป็นไปได้ว่าสุโขทัยเริ่มมีการแยกตัวเป็นอิสระ จากอิทธิพลขอม-ละโว้ในรัชสมัยของพ่อขุนศรีนาวนำถุมนี้
อย่างไรก็ตามผู้ปกครองสุโขทัยต่อมา คือ ขอมสบาดโขลญลำพง อาจนำแคว้นสุโขทัยกลับเข้าอยู่ภายใต้อิทธิพลของขอม-ละโว้ อีกครั้งหนึ่ง จนกระทั่ง พ่อขุนผาเมือง ร่วมกับ พ่อขุนบางกลางหาว ร่วมกันทำสงครามได้ชัยชนะเหนือขอมสบาดโขลญลำพง จนสามารถนำแคว้นสุโขทัยออกจากอิทธิพลของขอม-ละโว้ อีกครั้ง
หลักฐานตามศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 2 (จารึกวัดศรีชุม) ปรากฏเชื้อสายของราชวงศ์ของพ่อขุนศรีนาวนำถุมคือ
พ่อขุนศรีนาวนำถม ผู้สถาปนาแคว้นสุโขทัย - ศรีสัชนาลัย
พ่อขุนผาเมือง บุตรของลำดับที่ 1
พระยากำแหงพระราม เจ้าเมืองสรลวงสองแคว อาจเป็นบุตรของลำดับที่ 2
พระมหาเถรศรีศรัทธา หลานของลำดับที่ 2 (บุตรของลำดับที่ 3) ผู้มีเรื่องราวชีวิตอยู่ในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 2
อาจเป็นเพราะเนื่องจาก มหาเถรศรีศรัทธา ไม่มีบุตรชายมีแต่ธิดาสองคน และออกบวชเดินทางแสวงบุญในเวลาต่อมา จึงไม่ปรากฏหลักฐานการสืบเชื้อสายของตระกูลนี้ต่อมาหลังจากนั้น
อย่างไรก็ตาม ประเพณีในสมัยนั้นนิยมนำชื่อปู่มาตั้งเป็นชื่อคนรุ่นหลาน และปรากฏว่าต่อมามีกษัตริย์ไทยเมืองเหนือชื่อ พระยางั่วนำถุม จึงมีความเป็นไปได้ว่าเชื้อสายของพ่อขุนศรีนาวนำถุมยังคงมีอำนาจในแคว้นสุโขทัยสืบต่อมาอีกระยะหนึ่ง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

วันศุกร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2555

อาณาจักรทวารวดี

อาณาจักรทวารวดี



ในสมัยก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๑ นั้นดินแดนอาณาจักรสุวรรณภูมิ ได้ถูกครอบครองโดยแคว้นอิศานปุระ ของอาณาจักรฟูนัน(หรือฟูนาน) และอาณาจักรเจนละ  (หรือเจินละ)  ซึ่งปรากฏหลักฐานว่า ขณะที่อาณาจักรฟูนันสลายตัวลงในพุทธศตวรรษที่ ๑๑ นั้น ได้มีชนชาติอีกพวกหนึ่ง ที่แตกต่างกับชาวเจนละ ในด้านศาสนาและศิลปกรรม ได้มีอิทธิพลเข้าครอบครองดินแดนทางตะวันตกของอาณาจักรเจนละ ตั้งแต่เมืองเพชรบุรี เมืองราชบุรีขึ้นไปทางเหนือจนถึงเมืองลำพูนได้
                  จดหมายเหตุของภิกษุจีน ชื่อเหี้ยนจั๋งหรือพระถังซัมจั๋ง(Hieun Tsing) ซึ่งเดินทางจากเมืองจีนไปประเทศอินเดียทางบก ราว พ.ศ. ๑๑๗๒–๑๑๘๘ และภิกษุจีน อี้จิง (I-Sing) ได้เดินทางอินเดียไปทางทะเล ในช่วงเวลาต่อมานั้น    ได้เรียกอาณาจักรใหญ่แห่งนี้ ตามสำเนียงชนพื้นเมืองในอินเดียว่า โลโปตี้ หรือจุยล่อพัดดี้(ทวารวดี)  เป็นอาณาจักรที่ตั้งอยู่ระหว่างเมืองศรีเกษตร(อยู่ในพม่า)   ไปทางตะวันออกกับเมืองอิศานปุระ(อยู่ในเขมร) ปัจจุบันคือส่วนที่เป็นดินแดนภาคกลางของประเทศไทย
               พงศาวดารจีนสมัยราชวงศ์ฮั่น ได้กล่าวถึงดินแดนแห่งนี้ไว้ว่า “สามารถเดินเรือจากเมืองกวางตุ้งถึงอาณาจักรทวารวดีได้ในเวลา ๕ เดือน”
                หลักฐานทางโบราณคดีที่พบในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๑–๑๓ คือเหรียญเงินเส้นผ่าศูนย์กลาง  ๑๙  ม.ม. พบที่นครปฐม และอู่ทองนั้น    พบว่ามีอักษรจารึกไว้ว่า “ศรีทวารวดีศวร”และ  มีรูปหม้อน้ำกลศอยู่อีกด้านหนึ่ง  ทำให้เชื่อได้ว่า ชนชาติมอญโบราณ ได้ตั้งอาณาจักรทวารวดี(บางแห่งเรียกทวาราวดี) ขึ้นในภาคกลางของดินแดนสุวรรณภูมิ และมีชุมชนเมืองสมัยทวาราวดีสำคัญหลายแห่งได้แก่     เมืองนครชัยศรี (นครปฐมโบราณ น่าจะเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรในลุ่มแม่น้ำท่าจีน) เมืองอู่ทอง (จังหวัดสุพรรณบุรีในลุ่มแม่น้ำท่าจีน)   เมืองพงตึก(จังหวัดกาญจนบุรี ในลุ่มแม่น้ำแม่กลอง )   เมืองละโว้(จังหวัดลพบุรีใน ลุ่มแม่น้ำลพบุรี)    เมืองคูบัว(จังหวัดราชบุรี ในลุ่มแม่น้ำแม่กลอง)  เมืองอู่ตะเภา(บ้านอู่ตะเภา อ.มโนรมย์ จังหวัดชัยนาท ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา) เมืองบ้านด้าย(ต.หนองเต่า อ.เมือง จ.อุทัยธานี ในแควตากแดด) เมืองซับจำปา(บ้านซับจำปา จังหวัดชัยนาทในลุ่มแม่น้ำป่าสัก  ) เมืองขีดขิน(อยู่ในจังหวัดสระบุรี) และบ้านคูเมือง(ที่อำเภออินทรบุรี จังหวัดสิงห์บุรี) นอกจากนั้นพบเมืองโบราณสมัยทวารวดีอีกหลายแห่ง เช่น ที่บ้านหนองปรง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี  รวมทั้งหมู่บ้านในเขตอำเภอบ้านหมี่ และโคกสำโรง จังหวัดลพบุรีเป็นต้น
                ชุมชนเมืองสมัยทวารวดีในภาคเหนือ พบที่เมืองจันเสน(อยู่ที่ตำบลจันเสน  อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ลุ่มแม่น้ำลพบุรี) เมืองบึงโคกช้าง (อยู่ในตำบลไผ่เขียว อำเภอสว่างอารมณ์ จังหวัดอุทัยธานีในแควตากแดด ลุ่มน้ำสะแกกรัง) เมืองศรีเทพ(ที่จังหวัดเพชรบูรณ์  ลุ่มแม่น้ำป่าสัก) เมืองหริภุญชัย(ที่จังหวัดลำพูนในลุ่มแม่น้ำปิง) และ เมืองบน(อยู่ที่ อำเภอพยุหคิรี จังหวัดนครสวรรค์  ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา) 
                ชุมชนเมืองสมัยทวารวดีที่ในภาคตะวันออก  มีเมืองโบราณสมัยทวารวดี อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑–๑๘ อยู่ที่เมืองพระรถ (อยู่ตำบลหน้าพระธาตุ อำเภอพนัสนิคม  จังหวัดชลบุรี ซึ่งพบเครื่องถ้วยเปอร์เซียสีฟ้า) มีถนนโบราณติดต่อกับเมืองศรีพะโล      ซึ่งเป็นเมืองท่าสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๕–๒๑  (อยู่ตำบลหนองไม้แดง  อำเภอเมืองชลบุรี  ลุ่มน้ำบางปะกง)ซึ่งพบเครื่องถ้วยจีน และญี่ปุ่นจากเตาอะริตะแบบอิมาริ อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๒       และติดต่อถึงเมืองสมัยทวาราวดีที่อยู่ใกล้เคียงกันเช่นเมืองศรีมโหสถ (ที่อำเภอโคกปีบ จังหวัดปราจีนบุรี)    เมืองดงละคร(ที่นครนายก)   เมืองท้าวอุทัย และ บ้านคูเมือง(จังหวัดฉะเชิงเทรา) 
                ชุมชนเมืองสมัยทวาราวดี ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น มีเมืองฟ้าแดดสงยาง หรือฟ้าแดดสูงยาง(ที่อำเภอกมลาไสยจังหวัดกาฬสินธุ์) ภูพระบาท(ที่อุดรธานี) เมืองโบราณที่พบในอำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย  จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดนครพนม  จังหวัดสกลนครและเมืองเวียงจันทน์ ประเทศลาว
                ส่วนชุมชนเมืองสมัยทวาราวดีในภาคใต้นั้น ปรากฏว่าอิทธิพลของอาณาจักรทวาราวดีนั้น สามารถแพร่ลงไปถึงเมืองไชยา(สุราษฎร์ธานี)  เมือง นครศรีธรรมราช และเมืองยะรัง( ปัตตานี) ของอาณาจักรศรีวิชัยด้วย  
             อาณาจักรทวารวดีนั้นจึงเป็นดินแดนเป็นของ ชนชาติมอญโบราณ มีศูนย์กลางที่เมืองนครปฐมโบราณ( ลุ่มแม่น้ำท่าจีนหรือนครชัยศรี) กับเมืองอู่ทองและเมืองละโว้(ลพบุรี)  ต่อมาได้ขยายอำนาจขึ้นไป ถึงเมืองหริภุญชัยหรือลำพูน  มีหลักฐานเล่าไว้ว่า ราว พ.ศ.๑๑๐๐ พระนางจามเทวี ราชธิดาของเจ้าเมืองลวปุระหรือละโว้ลพบุรี ได้อพยพผู้คนขึ้นไปตั้งเมืองหริภุญชัยที่ลำพูน  ส่วนที่เมืองนครปฐมนั้นมีการพบ พระปฐมเจดีย์ ซึ่งเชื่อกันว่าบรรจุพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้า เมื่อแรกสร้างมีลักษณะคล้ายสถูปแบบสาญจี ที่พระเจ้าอโศกมหาราชสร้างไว้ในอินเดีย เมื่อพุทธศตวรรษที่ ๓-๔ และมีการพบจารึกภาษาปัลลวะ บาลี สันสกฤต และ ภาษามอญ ที่บริเวณพระปฐมเจดีย์และบริเวณใกล้เคียง พบจารึก ภาษามอญ อักษรปัลลวะ บันทึกเรื่องการสร้างพระพุทธรูป เสาหงส์ วิหาร และแนวต้นมะพร้าวเป็นอาณาเขตพระอารามที่วัดโพธิ์ร้าง  จังหวัดนครปฐม อายุราว พ.ศ.๑๒๐๐ (ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์พระปฐมเจดีย์)     และพบ จารึกมอญ ที่ลำพูนอายุราว พ.ศ.๑๖๒๘(ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ หริภุญไชย จังหวัดลำพูน) 
                สำหรับเมืองอู่ทองนั้น ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำจรเข้สามพันโบราณ เป็นสาขาของแม่น้ำท่าจีน ซึ่งเปลี่ยนทางเดิน ด้วยปรากฏมีเนินดินและคูเมืองโบราณ เป็นรูปวงรีกว้างประมาณ ๑ กิโลเมตร ยาวประมาณ ๒ กิโลเมตร  มีป้อมปราการก่อด้วยศิลาแลง มีการพบโบราณวัตถุอายุสมัย พ.ศ.๖๐๐–๑๖๐๐ จำนวนมาก      นอกจากนี้ยังได้สำรวจพบแหล่งโบราณคดีที่สำคัญอีกหลายแห่งเช่น
               แหล่งโบราณคดีที่โบราณสถานคอกช้างดิน  ตำบลจรเข้สามพัน  อำเภออู่ทอง  จังหวัดสุพรรณบุรีนั้น  พบเงินเหรียญสมัยทวารวดีเป็นตรารูป แพะ สายฟ้า พระอาทิตย์ พระจันทร์ และรูปหอยสังข์  บางเหรียญจารึกอักษรปัลลวะและพบปูนปั้นรูปสตรีหลายคน เล่นดนตรีชนิดต่างๆ  เป็นต้นเป็นหลักฐานนี้ชี้ให้เห็นว่า เมืองอู่ทอง มีฐานะเป็นเมืองสำคัญแห่งหนึ่งของอาณาจักรทวารวดี 
                เมืองนครไชยศรีโบราณ  ซึ่งอยู่บริเวณที่ตั้งของวัดจุลประโทณ จังหวัดนครปฐมในปัจจุบัน และถัดออกจากองค์พระปฐมเจดีย์ไปทางทิศใต้ ประมาณ ๕๒ กิโลเมตรนั้นมีที่ดอน สำรวจพบคูเมืองโบราณรูปสี่เหลี่ยม ขนาด ๓,๖๐๐ x ๒,๐๐๐ เมตร มีลำน้ำบางแก้วไหลผ่านกลางเมืองโบราณออกไป ตัดคลองพระประโทณ ผ่านคลองพระยากง บ้านเพนียด  บ้านกลาง บ้านนางแก้ว แล้วออกสู่แม่น้ำนครไชยศรี       พบโบราณวัตถุสมัยทวารวดีจำนวนหนึ่ง ของเมืองนครไชยศรีโบราณแห่งนี้ ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ
                เมืองโบราณกำแพงแสน  จังหวัดนครปฐม  มีลักษณะคล้ายสำเภาโบราณ    ขนาดประมาณ ๓๒๕ ไร่ ( ปรากฏคันดินคูน้ำ สระน้ำและทางน้ำเก่าต่อกับห้วยยาง ปัจจุบันส่วนใหญ่มักจะตื้นเขิน) เป็นเมืองใหญ่ของ อาณาจักรทวารวดีโบราณ มีวัดพระประโทณเป็นศูนย์กลาง ลักษณะเกือบเป็นสี่เหลี่ยมจตุรัส  มีการขุดสระน้ำขนาดต่าง ๆ  มีคลองขุดจากคลองพระประโทณผ่านไปยังดอนยายหอม ยาวประมาณ ๘ กิโลเมตร  มีเส้นทางน้ำหลายสายที่ยังปรากฏอยู่  เช่น คลองบางแก้ว คลองรังไทร และคลองรางพิกุล   เป็นต้น  
              การพบศิลาสลักรูปวงล้อพระธรรมจักร์กับกวางหมอบ  เปลือกหอยทะเล สมอเรือ และสายโซ่เรือขนาดใหญ่ในเมืองนครปฐมโบราณ เป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงว่าในสมัยก่อนนั้น เมืองโบราณแห่งนี้อยู่ติดกับทะเล หรือเป็นเมืองสำคัญของอาณาจักรทวารวดี    ซึ่งมีการพบชิ้นส่วนของพระพุทธรูปจำนวนมาก  และยังได้พุทธรูปหินทรายสลักประทับนั่ง ขนาดใหญ่ สมัยทวารวดี  จำนวน ๔ องค์  ที่วัดพระเมรุ  ใกล้องค์พระปฐมเจดีย์ ปัจจุบันนี้พระพุทธรูปองค์หนึ่ง ได้อัญเชิญไปไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยาจังหวัดอยุธยา  องค์ที่สองอยู่ในอุโบสถวัดพระปฐมเจดีย์   องค์ที่สามอยู่ที่ลานประทักษิณด้านทิศใต้ขององค์พระปฐมเจดีย์ และองค์ที่สี่ อยู่ในวิหารน้อยวัดหน้าพระเมรุ จังหวัดอยุธยา นอกจากนี้ยังพบพระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาท ศิลปทวารวดีสลักอยู่ในถ้ำฤาษี เขางู จังหวัดราชบุรี ด้วย  จากหลักฐานที่พบสถาปัตยกรรมศิลปสมัยทวารวดี จากลายปูนปั้นประดับฐานเจดีย์ที่วัดพระเมรุ และเจดีย์จุลประโทณที่เมืองนครชัยศรี หรือนครปฐมโบราณนั้นปรากฏว่า เป็นศิลปที่มีรูปแบบคล้ายคลึงกับ อานันทเจดีย์ที่พุกาม  ประเทศพม่า   
              นอกจากนี้ยังมีแหล่งโบราณคดีอื่นๆ ที่สำรวจพบเมืองโบราณ และชิ้นส่วนรูปปั้นดินเผา   ปูนปั้นลายผักกูดศิลปสมัยทวารวดีอีก เช่น ที่บ้านคูบัว จังหวัดราชบุรี 
             ในจังหวัดเพชรบูรณ์ขุดพบธรรมจักรศิลาขนาดใหญ่ สมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๓–๑๔ ที่เมืองโบราณศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ นั้นเป็นหลักฐานที่แสดงว่าชุมชนแห่งนี้ ได้มีการนับถือศาสนาพุทธแล้ว   ส่วนหลักฐานสำคัญของพุทธศาสนาสมัยทวารวดีนั้น พบที่วัดโพธิ์ชัยเสมาราม เมืองฟ้าแดดสงยาง(หรือฟ้าแดดสูงยาง) อำเภอกมลาไสย  จังหวัดกาฬสินธุ์   ใกล้แม่น้ำชี ซึ่งพบเสมาหินจำนวนมาก เป็นเสมาหินทรายสมัยทวารวดี ขนาดใหญ่อายุราว ๑,๒๐๐ ปี มีอายุเก่าแก่กว่าสมัยขอมนครวัด   ใบเสมานั้นจำหลักเรื่องพุทธประวัติ โดยรับอิทธิพลมาจากศิลปแบบคุปตะ ของอินเดีย พบเสมาหินบางแท่งมีจารึกอักษรปัลลวะ ของอินเดียใต้ไว้ด้วย
                  บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท  อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี  พบภาพสลักภาพนูนสูง อยู่ในซอกผนังหินทราย เป็นพระพุทธรูปศิลปทวารวดี ประทับนั่งขัดสมาธิ ในบริเวณที่เรียกว่าถ้ำพระ เศียรพระพุทธรูปองค์นี้ถูกทำลายต่อมาได้ซ่อมแซมให้สมบูรณ์แล้ว
              สำหรับดินแดนภาคใต้นั้น มีการขุดพบดินเผาลวดลายดอกบัวศิลป สมัยทวารวดีที่เมืองโบราณยะรัง    จังหวัดปัตตานี ใช้สำหรับตกแต่งโบราณสถาน   สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้กล่าวถึงการสิ้นสุดของอาณาจักรทวารวดีไว้ว่า
                “พระเจ้าอนุรุทรมหาราชแห่งเมืองพุกามประเทศพม่า   ทรงยกกองทัพเข้ามาโจมตีของอาณาจักร
                  ทวาราวดี  จนทำให้อาณาจักรทวารวดีสลายสูญไป”
                ต่อมาอาณาจักรขอมหลังจากพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ สวรรคตใน พ.ศ. ๑๗๓๒ อำนาจก็เริ่มเสื่อมลง ทำให้บรรดาเมืองประเทศราช ที่อยู่ในอิทธิพลของขอมต่างพากันตั้งตัวเป็นอิสระ    ดังนั้นในปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ พ่อขุนบางกลางหาว  เจ้าเมืองบางยาง และพ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราด ซึ่งได้พระนางสิขรเทวีพระธิดาขอม เป็นมเหสีและได้รับพระนามว่า”ขุนศรีอินทราทิตย์”พร้อมพระขรรค์ชัยศรี ได้ร่วมกันทำการยึดอำนาจจากขอม  และให้พ่อขุนบางกลางหาว  สถาปนาเป็น พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ และประกาศตั้งอาณาจักรสุโขทัย เป็นอิสระจากการปกครองของขอม
               พ่อขุนรามคำแหง พระราชโอรสของขุนศรีอินทราทิตย์ ได้ครองราชย์และทรงดัดแปลงอักษรขอมและ มอญ มาประดิษฐเป็นลายสือไทย
                ในศิลาจารึกสุโขทัย หลักที่ ๑ ของพ่อขุนรามคำแหง ได้ระบุชื่อเมืองที่อยู่ในอำนาจของสุโขทัยหลายเมือง    ก่อนนั้นเมืองเหล่านี้ เคยอยู่ในอาณาจักรทวารวดีโบราณ เช่นเมืองสุพรรณภูมิ(สุพรรณบุรี) เมืองราชบุรี เมืองเพชรบุรี เมืองแพรก(ชัยนาท) เป็นต้น
                 ปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๗ พระเจ้าไชยศิริ โอรสของพระเจ้าพรหมแห่งโยนกนครทางเหนือ ถูกกษัตริย์เมืองสุธรรมวดียกกองทัพมารุกราน พระเจ้าไชยศิริสู้ไม่ได้จึงหนีข้าศึกมาเมืองกำแพงเพชร และอพยพหนีลงมาถึงดินแดนที่เคยเป็นอาณาจักรทวารวดี แล้วตั้งราชวงศ์อู่ทองขึ้น 
                 ต่อมา พ.ศ. ๑๘๙๓ พระเจ้าอู่ทองทรงย้ายราชธานีจากเมืองอู่ทอง มาตั้งมั่นที่บริเวณใกล้เมืองอโยธยาเดิมที่ปละคูจาม ใกล้หนองโสน (อาจเป็นเพราะแม่น้ำจรเข้สามพันเปลี่ยนทางเดิน หรือ เกิดโรคระบาด) แล้วพระองค์ได้ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี นามว่า “กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยาฯ”

ประวัติศาสตร์ไทย

ชีวประวัติ "สุนทรภู่"

ถ้าเอ่ยชื่อ "สุนทรภู่" เชื่อว่าน้อยคนนักที่จะไม่รู้จักกวีชาวไทยที่มีชื่อเสียงก้องโลก โดยเฉพาะกลอนนิทานเรื่อง "พระอภัยมณี" จนได้รับยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ด้านงานวรรณกรรม หรือ “มหากวีแห่งรัตนโกสินทร์" หรือ “เชกสเปียร์แห่งประเทศไทย" และคงเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า "วันที่ 26 มิถุนายน" ของทุกปีคือ "วันสุนทรภู่" ซึ่งมักจะมีการจัดนิทรรศการ ประกวดแต่งคำกลอน เพื่อแสดงถึงการรำลึกถึง เพราะฉะนั้น วันนี้กระปุกดอทคอมจึงไม่พลาด ขอพาไปเปิดประวัติ "วันสุนทรภู่" ให้มากขึ้นค่ะ...

ชีวประวัติ "สุนทรภู่"

สุนทรภู่ กวีสำคัญสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เกิดวันจันทร์ เดือน 8 ขึ้น 1 ค่ำ ปีมะเมีย จุลศักราช 1148 เวลา 2 โมงเช้า หรือตรงกับวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2329 เวลา 8.00 น. นั่นเอง ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ณ บริเวณด้านเหนือของพระราชวังหลัง (บริเวณสถานีรถไฟบางกอกน้อยปัจจุบัน) บิดาของท่านเป็นชาวกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ชื่อพ่อพลับ ส่วนมารดาเป็นชาวเมืองฉะเชิงเทรา ชื่อแม่ช้อย สันนิษฐานว่ามารดาเป็นข้าหลวงอยู่ในพระราชวังหลัง เชื่อว่าหลังจากสุนทรภู่เกิดได้ไม่นาน บิดามารดาก็หย่าร้างกัน บิดาออกไปบวชอยู่ที่วัดป่ากร่ำ ตำบลบ้านกร่ำ อำเภอแกลง อันเป็นภูมิลำเนาเดิม ส่วนมารดาได้เข้าไปอยู่ในพระราชวังหลัง ถวายตัวเป็นนางนมของพระองค์เจ้าหญิงจงกล พระธิดาในเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ ดังนั้น สุนทรภู่จึงได้อยู่ในพระราชวังหลังกับมารดา และได้ถวายตัวเป็นข้าในกรมพระราชวังหลัง ซึ่งสุนทรภู่ยังมีน้องสาวต่างบิดาอีกสองคน ชื่อฉิมและนิ่ม อีกด้วย

"สุนทรภู่" ได้รับการศึกษาในพระราชวังหลังและที่วัดชีปะขาว (วัดศรีสุดาราม) ต่อมาได้เข้ารับราชการเป็นเสมียนนายระวางกรมพระคลังสวน ในกรมพระคลังสวน แต่ไม่ชอบทำงานอื่นนอกจากแต่งบทกลอน ซึ่งสามารถแต่งได้ดีตั้งแต่ยังรุ่นหนุ่ม เพราะตั้งแต่เยาว์วัยสุนทรภู่มีนิสัยรักแต่งกลอนยิ่งกว่างานอื่น ครั้งรุ่นหนุ่มก็ไปเป็นครูสอนหนังสืออยู่ที่วัดศรีสุดารามในคลองบางกอกน้อย ได้แต่งกลอนสุภาษิตและกลอนนิทานขึ้นไว้ เมื่ออายุราว 20 ปี

ต่อมาสุนทรภู่ลอบรักกับนางข้าหลวงในวังหลังคนหนึ่ง ชื่อแม่จัน ซึ่งเป็นบุตรหลานผู้มีตระกูล จึงถูกกรมพระราชวังหลังกริ้วจนถึงให้โบยและจำคุกคนทั้งสอง แต่เมื่อกรมพระราชวังหลังเสด็จทิวงคตในปี พ.ศ. 2349 จึงมีการอภัยโทษแก่ผู้ถูกลงโทษทั้งหมดถวายเป็นพระราชกุศล หลังจากสุนทรภู่ออกจากคุก เขากับแม่จันก็เดินทางไปหาบิดาที่ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง และมีบุตรด้วยกัน 1 คน ชื่อ “พ่อพัด” ได้อยู่ในความอุปการะของเจ้าครอกทองอยู่ ส่วนสุนทรภู่กับแม่จันก็มีเรื่องระหองระแหงกันเสมอ จนภายหลังก็เลิกรากันไป

หลังจากนั้น สุนทรภู่ ก็เดินทางเข้าพระราชวังหลัง และมีโอกาสได้ติดตามพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ในฐานะมหาดเล็ก ตามเสด็จไปในงานพิธีมาฆบูชา ที่อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2350 และเขาก็ได้แต่ง “นิราศพระบาท” พรรณนาเหตุการณ์ในการเดินทางคราวนี้ด้วย และหลังจาก “นิราศพระบาท” ก็ไม่ปรากฏผลงานใดๆ ของสุนทรภู่อีกเลย

จนกระทั่งเข้ารับราชการในปี พ.ศ. 2359 ในรัชสมัยรัชกาลที่ 2 สุนทรภู่ได้เข้ารับราชการในกรมพระอาลักษณ์ และเป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จนแต่งตั้งให้เป็นกวีที่ปรึกษาและคอยรับใช้ใกล้ชิด เนื่องจากเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงแต่งกลอนบทละครในเรื่อง "รามเกียรติ์" ติดขัดไม่มีผู้ใดต่อกลอนได้ต้องพระราชหฤทัย จึงโปรดให้สุนทรภู่ทดลองแต่ง ปรากฏว่าแต่งได้ดีเป็นที่พอพระทัย จึงทรงพระกรุณาฯ เลื่อนให้เป็น "ขุนสุนทรโวหาร"

ต่อมาในราว พ.ศ. 2364 สุนทรภู่ต้องติดคุกเพราะเมาสุราอาละวาดและทำร้ายท่านผู้ใหญ่ แต่ติดอยู่ไมนานก็พ้นโทษ เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงติดขัดบทพระราชนิพนธ์เรื่อง "สังข์ทอง" ไม่มีใครแต่งได้ต้องพระทัย ทรงให้สุนทรภู่ทดลองแต่งก็เป็นที่พอพระราชหฤทัยภายหลังพ้นโทษ สุนทรภู่ได้เป็นพระอาจารย์ถวายอักษรสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอาภรณ์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ 2 และ เชื่อกันว่าสุนทรภู่แต่งเรื่อง "สวัสดิรักษา" ในระหว่างเวลานี้ ซึ่งในระหว่างรับราชการอยู่นี้ สุนทรภู่แต่งงานใหม่กับแม่นิ่ม มีบุตรด้วยกันหนึ่งคน ชื่อ "พ่อตาบ

"สุนทรภู่" รับราชการอยู่เพียง 8 ปี เมื่อถึงปี พ.ศ. 2367 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคต หลังจากนั้นสุนทรภู่ก็ออกบวชที่วัดราชบูรณะ (วัดเลียบ) อยู่เป็นเวลา 18 ปี ระหว่างนั้นได้ย้ายไปอยู่วัดต่างๆ หลายแห่ง ได้แก่ วัดเลียบ, วัดแจ้ง, วัดโพธิ์, วัดมหาธาตุ และวัดเทพธิดาราม ซึ่งผลจากการที่ภิกษุภู่เดินทางธุดงค์ไปที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ปรากฏผลงานเป็นนิราศเรื่องต่างๆ มากมาย งานเขียนชิ้นสุดท้ายที่ภิกษุภู่แต่งไว้ก่อนลาสิกขาบท คือ รำพันพิลาป โดยแต่งขณะจำพรรษาอยู่ที่วัดเทพธิดาราม พ.ศ. 2385 ทั้งนี้ ระหว่างที่ออกเดินทางธุดงค์ ภิกษุภู่ได้รับการอุปการะจากพระองค์เจ้าลักขณานุคุณจนพระองค์ประชวรสิ้นพระชมน์ สุนทรภู่จึงลาสิกขาบท รวมอายุพรรษาที่บวชได้ประมาณ 10 พรรษา สุนทรภู่ออกมาตกระกำลำบากอยู่พักหนึ่งจึงกลับเข้าไปบวชอีกครั้งหนึ่ง แต่อยู่ได้เพียง 2 พรรษา ก็ลาสิกขาบท และถวายตัวอยู่กับเจ้าฟ้าน้อย หรือสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ พระราชวังเดิม รวมทั้งได้รับอุปการะจากกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพอีกด้วย

ในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ครองราชย์ ทรงสถาปนาเจ้าฟ้า กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ เป็นพระบาทสมเด็จพระปิ่นกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับอยู่วังหน้า (พระบวรราชวัง) สุนทรภู่จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "พระสุนทรโวหาร" ตำแหน่งเจ้ากรมพระอาลักษณ์ฝ่ายบวรราชวังในปี พ.ศ. 2394 และรับราชการต่อมาได้ 4 ปี ก็ถึงแก่มรณกรรมใน พ.ศ. 2398 รวมอายุได้ 70 ปี ในเขตพระราชวังเดิม ใกล้หอนั่งของพระยามนเทียรบาล (บัว) ที่เรียกชื่อกันว่า "ห้องสุนทรภู่"

สำหรับทายาทของสุนทรภู่นั้น เชื่อกันว่าสุนทรภู่มีบุตรชาย 3 คน คือ"พ่อพัด" เกิดจากภรรยาคนแรกคือแม่จัน "พ่อตาบ" เกิดจากภรรยาคนที่สองคือแม่นิ่ม และ "พ่อนิล" เกิดจากภรรยาที่ชื่อแม่ม่วง นอกจากนี้ ปรากฏชื่อบุตรบุญธรรมอีกสองคน ชื่อ "พ่อกลั่น" และ "พ่อชุบ" อย่างไรก็ตาม ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ทรงตราพระราชบัญญัตินามสกุลขึ้น และตระกูลของสุนทรภู่ได้ใช้นามสกุลต่อมาว่า "ภู่เรือหงส์"

ปฎิวัติสยาม 2475


การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 (หรือเรียกว่าเป็น รัฐประหาร หรือ การเปลี่ยนแปลงการปกครอง) เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในประวัติศาสตร์ไทยในคริสต์ศตวรรษที่ 20 เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ซึ่งมีผลทำให้ราชอาณาจักรสยามเปลี่ยนรูปแบบประเทศจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ และเปลี่ยนรูปแบบการปกครองไปเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา เกิดขึ้นจากคณะนายทหารและพลเรือนที่ประกอบกันขึ้นเป็นพรรคการเมืองพรรคแรกของสยาม ที่เรียกตัวเองว่า "คณะราษฎร" โดยเป็นผลพวงมาจากการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์โลก ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองภายในประเทศ การปฏิวัติดังกล่าวยังทำให้ประชาชนชาวสยามได้รับรัฐธรรมนูญฉบับแรกอีกด้วย
เบื้องหลัง
พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิรูปประเทศให้ทันสมัยในหลายด้าน แต่การปฏิรูปรัฐธรรมนูญกลับเป็นไปอย่างเชื่องช้าซึ่งสร้างความไม่พอใจในหมู่พวกหัวก้าวหน้าและพวกหัวรุนแรง ในปี พ.ศ. 2454 ได้เกิดกบฏ ร.ศ. 130 ซึ่งดำเนินการโดยคณะนายทหารหนุ่ม แต่ล้มเหลว เป้าหมายของคณะคือเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองและล้มล้างระบอบเก่าและแทนที่ด้วยระบบรัฐธรรมนูญตะวันตกที่ทันสมัย และอาจต้องการเปลี่ยนพระมหากษัตริย์ด้วยพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์อื่นด้วย การปฏิวัติดังกล่าวล้มเหลวและผู้ก่อการถูกจำคุก นับแต่นั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงละเลิกความพยายามส่วนใหญ่ในการปฏิรูปรัฐธรรมนูญและทรงปกครองประเทศต่อไปภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช โดยมีข้อยกเว้นบ้างที่โปรดฯ แต่งตั้งสามัญชนบางคนสู่สภาองคมนตรีและรัฐบาล
ต่อมา สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา ทรงสืบราชสมบัติสืบต่อจากพระเชษฐาเป็นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต พระองค์ทรงสืบช่วงปกครองประเทศในวิกฤตการณ์ พระเชษฐาของพระองค์ทรงได้ทำให้สถานะของประเทศเกือบจะล้มละลาย เพราะทรงมักจะใช้เงินจากกองคลังมาปกปิดการขาดดุลของท้องพระคลังข้างที่ และข้อเท็จจริงยังมีว่ารัฐและประชาชนถูกบังคับให้จ่ายเงินแก่พระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ซึ่งมีวิถีชีวิตอันหรูหราฟุ่มเฟือย พระองค์ได้ทรงรีบจัดตั้งอภิรัฐมนตรีสภาขึ้นเป็นองค์กรหลักในการปกครองรัฐ เพื่อพยายามแก้ไขปัญหาที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้กลายเป็นว่าทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้เห็นอกเห็นใจ โดยทรงตัดรายจ่ายในพระราชวังและเสด็จพระราชดำเนินทั่วประเทศอย่างกว้างขวาง และเมื่อเสด็จกลับมายังพระนคร พระองค์ทรงทำให้เป็นที่ยอมรับและโดดเด่นแก่หมู่ชนชั้นสูงและชนชั้นกลางในกรุงเทพมหานครซึ่งเติบโตขึ้นกว่าแต่ก่อนโดยทรงประกอบพระราชกรณียกิจสาธารณะหลายอย่าง จนถึงเวลานี้ นักเรียนหลายคนที่ถูกส่งไปศึกษา ณ ต่างประเทศเมื่อหลายทศวรรษก่อนได้เริ่มเดินทางกลับประเทศแล้ว แต่นักเรียนเหล่านี้กลับขาดโอกาส การตั้งมั่นโดยพระบรมวงศานุวงศ์และความล้าหลังของประเทศ ซึ่งที่สุดแล้วได้กลายมาขจัดภาพลวงตาของสถานะเดิมมากที่สุด
อย่างไรก็ตาม เมื่อถึง พ.ศ. 2473 สถานการณ์โลกได้ทวีความเลวร้ายลงเกินกว่าที่ประเทศจะสามารถรับไหวเมื่อตลาดหุ้นวอลล์สตรีทล่มและความล่มสลายทางเศรษฐกิจส่งผลกระทบมาถึงสยาม พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสนอให้จัดเก็บภาษีรายได้ทั่วไปและภาษีอสังหาริมทรัพย์เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของคนยากจน แต่นโยบายดังกล่าวถูกปฏิเสธอย่างรุนแรงจากสภา ซึ่งสภาได้เปลี่ยนไปลดค่าตอบแทนของข้าราชการพลเรือนและลดงบประมาณด้านการทหารแทน ทำให้ชนชั้นสูงในประเทศส่วนใหญ่และโดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายทหารโกรธมาก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงยอมรับว่าพระองค์ทรงขาดพระราชกรณียกิจด้านการคลังอย่างเปิดเผย พยายามต่อสู้กับพระบรมวงศานุวงศ์ที่อาวุโสกว่าในประเด็นดังกล่าว แต่ก็สำเร็จเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
พระองค์ได้ทรงเปลี่ยนพระราชปณิธานไปเป็นการร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ซึ่งเป็นครั้งแรกที่จะนำประชาธิปไตยเข้าสู่สยาม ด้วยความช่วยเหลือจากพระบรมวงศานุวงศ์อีกสองพระองค์และที่ปรึกษานโยบายต่างประเทศชาวอเมริกัน เรย์มอนด์ บาร์ทเล็ตต์ สตีเฟนส์ ถึงแม้ว่าจะได้รับการกราบทูลทัดทานว่าประชาชนสยามยังไม่พร้อม แต่พระองค์ยังทรงมุ่งมั่นที่จะมอบรัฐธรรมนูญแก่ปวงชนก่อนงานเฉลิมฉลองครบรอบ 150 ปีราชวงศ์จักรี ในปี พ.ศ. 2475อย่างไรก็ตาม เอกสารดังกล่าวได้ถูกปฏิเสธโดยพระบรมวงศานุวงศ์ในอภิรัฐมนตรีสภา
เมื่อสิ้นเดือนเมษายน พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จออกจากกรุงเทพมหานครในช่วงเสด็จแปรพระราชฐานฤดูร้อน โดยทรงมอบหมายให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยพระองค์ทรงเสด็จไปยังพระตำหนักฤดูร้อน ซึ่งถูกเรียกว่า "วังไกลกังวล" ที่หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
อาจกล่าวได้ว่า "กบฏ ร.ศ. 130" เป็นแรงขับดันให้คณะราษฎร ก่อการปฏิบัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยภายหลังการยึดอำนาจแล้ว พระยาพหลพลพยุหเสนาได้เชิญผู้นำการกบฏ ร.ศ. 130 ไปพบและกล่าวกับ ขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์) ว่า "ถ้าไม่มีคณะคุณ ก็เห็นจะไม่มีคณะผม" และหลวงประดิษฐ์มนูธรรมก็ได้กล่าวในโอกาสเดียวกันว่า "พวกผมถือว่าการปฏิวัติครั้งนี้เป็นการกระทำต่อเนื่องจากการกระทำเมื่อ ร.ศ. 130"

แหล่งที่มา www.oknation.net/blog/kookkae/2009/06/24/entry-1

กรุงแตก เจ้าตากฯ


วีรกรรมการรบ

นับแต่ครั้งที่พม่าเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยาเมื่อก่อนเสียกรุง จวบจนสิ้นรัชสมัยของพระองค์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชต้องทรงกรำศึกทั้งทางเรือและทางบกถึง ๓๐ ครั้ง เป็นศึกที่ทำกับพม่าเสีย ๑๐ ครั้ง ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์ชาติไทย ที่ใช้ยุทธวิธีในการศึก ด้วยการผสานกำลังทัพเรือ และ กำลังทัพบกเข้าด้วยกัน ทั้งเพื่อการกู้อิสรภาพของไทยประการหนึ่ง เพื่อรวบรวมอาณาจักรไทยให้เป็นปึกแผ่นประการหนึ่ง เพื่อการปราบจลาจลประการหนึ่ง และเพื่อการแผ่พระราชอาณาจักรให้กว้างขวาง มีการรบเพียง ๗ ครั้งเท่านั้น ที่ได้โปรดให้ข้าราชการผู้ใหญ่เป็นแม่ทัพ ส่วนการรบทั้ง ๒๓ ครั้งนั้น ทรงเป็นแม่ทัพนำทหารร่วมเป็นร่วมตายในสมรภูมิรบตลอดมา อาทิ

เมื่อครั้งตีจันทบุรี ทรงประกาศให้ทหารทุบหม้อข้าว และพระองค์เองทรงช้างพังคีรีบัญชรบุกเข้าชนประตูเมือง จนพังทลายลงและเข้าเมืองได้ในที่สุด เมื่อครั้งการรบที่ตำบลเกยไชย ทรงถูกกระสุนปืนข้าศึกที่พระชงฆ์เบื้องซ้าย จนต้องยกทัพกลับ

ตอนเสียกรุงใหม่ๆว่ากันว่าพม่าเล่นเสียคนไทยขยาดและหวาดกลัวมาก หนีตายกันไปอยู่ป่าก็มาก พระยาตากต้องแสดงฝีมือด้วยการรบหลายครั้งกว่าจะเรียกขวัญกำลังใจคนไทยกลับมาได้ ตัวอย่าง สงครามที่บางแก้ว เมืองราชบุรี ทรงทนล้อมพม่าไว้จนหมดเสบียงอดอยากสาหัส ไทยสามารถจับเชลยได้ทั้งกองทัพ ทำให้คนไทยหมดความกลัวพม่าไปได้ตั้งแต่นั้น


สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ปรีชาสามารถ ทั้งในเชิงการรบทางเรือ และการรบทางบก ในพระฐานะแห่งปฐมกษัตริย์จอมทัพเรือ แม้จะมิได้ปรากฏหลักฐานว่าทรงเคยศึกษาวิชาการด้านการรบทางเรือ และ มิเคยรับราชการในเขตเมืองที่ติดทะเล แต่ทรงรอบรู้และปรีชาสามารถในการศึกษาทางทะเล ทรงทราบถึงความเป็นไปของกระแสคลื่น ระดับน้ำทะเลและฤดูมรสุม นำประโยชน์จากความผันผวนของคลื่นลมมาใช้ จนสามารถนำเรือรบนับร้อยลำ และ กลุ่มทหารเพียงน้อยนิด ฝ่ากระแสลมและเกลียวคลื่น สู้การรบอันยิ่งใหญ่ทางเรือถึง๑๑ ครั้ง (มีการตั้งข้อสังเกตในหนังสือ การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ของ อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ว่าก่อนเข้ารับราชการนั้น น่าจะทรงเป็นพ่อค้าที่ขึ้นล่องไปจนถึงเมืองเหนือมาก่อน)

ในพระฐานะจอมทัพ ทรงเชี่ยวชาญการศึกทั้งฝีมือการรบและการศึกษาภูมิประเทศ เพื่อยังประโยชน์ในการเอาชัย ผสานและเลือกสรรยุทธวิธีการสงครามได้อย่างลึกซึ้ง จากวีรกรรมที่ทรงนำทหารตีฝ่าวงล้อมข้าศึกเมื่อคราวใกล้จะเสียกรุงศรีอยุธยา มาถึงการรบที่บ้านพรานนก เมื่อวันที่ ๔ มกราคม พุทธศักราช ๒๓๑๐ เป็นเสมือนแม่แบบที่ประทับอยู่ในความทรงจำของทหารไทยรุ่นหลัง ด้วยว่าพระยาตากได้สร้างวีรกรรมการรบบนหลังม้าที่เลื่องลือยิ่ง ทรงเอาชนะพม่าซึ่งติดตามมาภายหลังจากกรุงศรีอยุธยาแตกได้ ด้วยกำลังทหารเพียงห้านายต่อสู้บนหลังม้ากับทหารม้าพม่าถึง ๓๐ นาย

ในเวลาต่อมากองพันทหารม้า จึงถือวันนี้เป็น วันปฏิญาณทหารม้า ด้วยสำนึกในความกล้า เข้มแข็ง และเด็ดเดี่ยวในการศึกของพระองค์เมื่อครั้งนั้น

ปราบปรามชุมนุมเจ้าพระฝาง

เมื่อครั้งที่เข้าตีชุมชนเจ้าพระฝาง( เป็นพระ ) ที่สวางคบุรี เมื่อจ.ศ.๑๑๓๒ ปีขาล มีการบันทึกไว้ว่าเป็นชุมนุมที่ดำเนินการปกครองนอกรีตของราชอาณาจักรที่สุด คือขาดระเบียบ ชุมนุมเล็กๆเที่ยวปล้นสะดมชุมชนอื่นๆระบาดมากขึ้น หลังจากที่เจ้าพระฝางหนีไปแล้ว พระสงฆ์ในแถบภาคเหนือจึงจำต้องพิสูจน์ตนเองว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยการดำน้ำ ผู้ใดแพ้จะถูกสักข้อมือมิให้บวชได้อีก หากดำได้เสมอนาฬิกาก็ให้บวชใหม่ โดยต้องเย็บจีวรใหม่มิให้ใช้ของเดิมที่เป็นราคี ว่ากันว่าครั้งนั้นไตรจีวรของบรรดาพระสงฆ์ผู้แพ้แก่การพิสูจน์ ถูกเผากองพะเนิน เอามาผสมน้ำรักเป็นสมุดทาพระมหาธาตุเมืองสวางคบุรี พวกที่ไม่ยอมรับแล้วแพ้แก่นาฬิกาก็ต้องพระราชอาญา ประหารชีวิต

มีความที่บันทึกไว้ในพงศาวดารว่า “..แต่งเครื่องพลีกรรมเทวดาพร้อมแล้ว ทรงพระอธิษฐานให้พระบารมีนั้นช่วยอภิบาลรักษาพระสงฆ์ทั้งปวง ว่าภิกษุองค์ใดมิได้ขาดสิกขาบทจัตุปาราชิก ขอให้พระบารมีโพธิญาณของโยม(พระเจ้าตากสิน) และอานุภาพเทวดาอันศักดิ์สิทธิ์ช่วยอภิบาลรักษาพระผู้เป็นเจ้า อย่าให้แพ้แก่นาฬิกาได้ ถ้าและภิกษุรูปใดศีลวิบัติด้วยจัตุปาราชิก จงสังหารให้แพ้แก่นาฬิกาให้เห็นประจักษ์แก่ตาโลก..


แหล่งอ้างอิง www.moomkafae.com/index.php?lay=show&ac=article