วันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

การสถาปนาอาณาจักรสุโขทัย






อาณาจักรสุโขทัยเป็นอาณาจักรของคนไทยที่ได้รับการสถาปนาขึ้นใน พ.ศ. 1792 ก่อนหน้าที่จะมีการสถาปนาอาณาจักรสุโขทัยขึ้นมานั้น สุโขทัยเป็นเมืองเก่าแก่ที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาก่อน จากการตีความในศิลาจารึกหลักที่ 2 (วัดศรีชุม) พอจะสรุปความได้ว่า เมืองสุโขทัยแต่เดิมมีผู้นำคนไทยชื่อ พ่อขุนศรีนาวนำถุม เป็นเจ้าเมืองปกครองอยู่ เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ ขอมสบาดโขลญลำพง ขุนนางขอมได้นำกำลังเข้ายึดกรุงสุโขทัยไว้ได้
เมื่อพวกขอมเริ่มเสื่อมอำนาจลง ในปี พ.ศ. 1780 ได้มีผู้นำ 2 ท่าน คือ พ่อขุนบางกลางหาว และพ่อขุนผาเมือง ซึ่งเป็นผู้นำคนไทยได้ร่วมมือกันรวบรวมกำลังเข้าขับไล่ขอมออกจากดินแดนแถบนี้และตั้งตนเป็นอิสระ พร้อมกับสถาปนากรุงสุโขทัยเป็นราชธานีของอาณาจักรไทย และได้สถาปนาพ่อขุนบางกลางหาวขึ้นเป็นกษัตริย์ปกครองกรุงสุโขทัยทรงพระนามว่า พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ นับเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์สุโขทัยหรือราชวงศ์พระร่วง นับตั้งแต่ พ.ศ. 1792 เป็นต้นมา

ปัจจัยที่เอื้อต่อการสถาปนาอาณาจักรสุโขทัยเป็นราชธานี มีดังนี้
1. ปัจจัยภายใน ได้แก่ การมีขวัญและกำลังใจดีของประชาชนเนื่องจากมีผู้นำที่เข้มแข็งและมีความสามารถ การมีนิสัยรักอิสระ ไม่ชอบให้ผู้ใดมากดขี่ข่มเหง บังคับและบ้านเมืองมีความอุดมสมบูรณ์
2. ปัจจัยภายนอก ได้แก่ การเสื่อมอำนาจของขอม หลังจากที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 สิ้นพระชนม์ลง กษัตริย์องค์ต่อมาไม่สามารถรักษาอำนาจของตนในดินแดนที่ยึดครองมาได้ ทำให้หัวเมืองต่าง ๆ พากันตั้งตนเป็นอิสระ

ระยะเริ่มต้นของการสถาปนากรุงสุโขทัยเป็นราชธานี โดยเฉพาะในสมัยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ บ้านเมืองยังไม่มั่นคงมากนัก คนไทยยังอยู่กันอย่างกระจัดกระจาย บางเมืองยังคงมีอิสระในการปกครองตนเอง ไม่มีการรวมอำนาจไว้ ณ ศูนย์กลางเมืองใดเมืองหนึ่งโดยตรง บางครั้งจึงมีการทำสงครามกันเพื่อแย่งชิงอำนาจและขยายอาณาเขตของเมือง เช่น ขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดได้ยกทัพมาตีเมืองตาก
เมื่อสิ้นรัชสมัยของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ พระราชโอรสองค์ใหญ่ คือ พ่อขุนบานเมือง ได้ขึ้นครองราชย์ สมัยนี้สุโขทัยได้ขยายอำนาจทางการเมืองด้วยการทำสงครามกับหัวเมืองต่าง ๆ โดยมีพระอนุชา คือ พระรามคำแหง เป็นกำลังสำคัญ ซึ่งต่อมาพระองค์ได้ขึ้นครองราชย์สืบต่อจากพ่อขุนบานเมือง
ในสมัยพ่อขุนรามคำแหง พระองค์ทรงเป็นแม่ทัพไปปราบเมืองต่าง ๆ จนเป็นที่เกรงขามของอาณาจักรอื่น ๆ ดังนั้นเมื่อพระองค์ขึ้นครองราชย์จึงมีหลายเมืองที่ยอมอ่อนน้อมเข้ารวมอยู่กับอาณาจักรสุโขทัย โดยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชมิได้ส่งกองทัพไปรบ ได้แก่ เมืองหงสาวดี เมืองสุพรรณบุรี เมืองเพชรบุรี เมืองราชบุรี เมืองหลวงพระบาง เมืองเวียงจันทน์ และเมืองนครศรีธรรมชาติ ทำให้อาณาจักรสุโขทัยมีอาณาเขตแผ่ขยายออกไปกว้างขวางมาก ดังปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 1 ดังนี้
ทิศเหนือ ครอบคลุมเมืองแพร่ น่าน พลัว จนถึงเมืองหลวงพระบาง
ทิศใต้ ครอบคลุมเมืองคณฑี (กำแพงเพชร) พระบาง (นครสวรรค์) แพรก (ชัยนาท) สุพรรณบุรี ราชบุรี เพชรบุรี นครศรีธรรมราช จนถึงแหลมมลายู
ทิศตะวันออก ครอบคลุมเมืองสระหลวงสองแคว (พิษณุโลก) ลุมบาจาย (หล่มเก่า) สระคา และข้ามฝั่งแม่น้ำโขงไปถึงเมืองเวียงจันทน์และเวียงคำ
ทิศตะวันตก ครอบคลุมเมืองฉอด หงสาวดี จนถึงชายฝั่งทะเลด้านอ่าวเบงกอล

ขณะเดียวกันพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงใช้หลักธรรมในการปกครองเพื่อให้ประชาชนได้อยู่เย็นเป็นสุข ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เจ้าเมืองต่าง ๆ เหล่านี้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ทำให้สุโขทัยปราศจากข้าศึกศัตรูในทุกทิศ นับได้ว่าในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เป็นช่วงสมัยที่อาณาจักรสุโขทัยมีความเจริญรุ่งเรืองสูงสุด
หลังจากสิ้นรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช มีกษัตริย์ขึ้นครองราชย์อีก 2 พระองค์ คือ พญาเลอไทย และพญางั่วนำถม แต่อาณาจักรสุโขทัยก็เริ่มเสื่อมอำนาจลง บรรดาเมืองต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้การปกครองของสุโขทัยได้แยกตัวเป็นอิสระและเมืองประเทศราชที่มีกำลังเข้มแข็งต่างพากันแยกตัวไม่ขึ้นต่อกรุงสุโขทัย เช่น เมืองพงสาวดี เมืองนครศรีธรรมราช เป็นต้น นอกจากนี้ในตอนปลายรัชสมัยพญางั่วนำถมยังเกิดจลาจลขึ้นอีก เนื่องจากมีการแย่งชิงราชสมบัติจนพญาลิไทยเจ้าเมืองศรีสัชนาลัยต้องยกกำลังมาปราบ ทำให้บ้านเมืองสงบลง
หลังทรงปราบจลาจลในกรุงสุโขทัยได้สำเร็จ พญาลิไทยได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ครองราชสมบัติ ทรงพระนามว่า พระมหาธรรมราชาที่ 1 พระองค์ทรงพยายามสร้างอำนาจทางการเมือง เพื่อพัฒนาบ้านเมืองให้เข้มแข็งมาใหม่ อย่างไรก็ตามอาณาเขตของอาณาจักรสุโขทัยในรัชสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 ก็ได้ลดลงไปมากกว่าครึ่งเมื่อเทียบกับสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ต่อมาเมื่อสิ้นรัชสมัยของพระมหาธรรมราชาที่ 1 แล้ว มีพระมหากษัตริย์ขึ้นครองราชย์สืบต่อมาอีก 3 พระองค์ คือ พระมหาธรรมราชาที่ 2 พระมหาธรรมราชาที่ 3 (ไสลือไทย) และพระมหาธรรมราชาที่ 4 (บรมปาล) แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวอาณาจักรสุโขทัยเริ่มเสื่อมอำนาจ

กรุงสุโขทัย มีกษัตริย์ปกครอง 9 พระองค์ ดังนี้
1. พ่อขุนศรีอินทราทิตย์
2. พ่อขุนบานเมือง
3. พ่อขุนรามคำแหงมหาราช
4. พญาเลอไทย
5. พญางั่วนำถม
6. สมเด็จพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไทย)
7. สมเด็จพระมหาธรรมราชาที่ 2
8. สมเด็จพระมหาธรรมราชาที่ 3 (ไสลือไทย)
9. สมเด็จพระมหาธรรมราชาที่ 4 (บรมปาล)

ที่มาและได้รับอนุญาตจาก : เอกรินทร์ สี่มหาศาล และคณะ . ประวัติศาสตร์ ป.4 . พิมพ์ครั้งที่ 2 . กรุงเทพ ฯ : อักษรเจริญทัศน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น